top of page
template_header.jpg

การแข่งขันฝ่ายสารานุกรมไทยฯ

ประวัติ
สารานุกรมไทย

Annotation 2019-07-30 100542.jpg

๑. สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชปรารภกับอาจารย์ (ท่านประธาน) ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๖ แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงมีคณะกรรมการเข้าเฝ้าที่วังสวนจิตรลดา เป็นครั้งแรก ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๒ จึงมีการพิจารณา เรื่องการทำสารารนุกรมไทยฯ เล่มตัวอย่างขึ้น (มีตัวอย่างไปด้วย)

 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน ที่จะให้มีสารานุกรมไทยที่คนไทยทำ ด้วยความมุ่งหมาย ที่จะให้เป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและส่งเสริมให้เยาวชนไทย ได้หาความรู้ขั้นพื้นฐาน ในเรื่องราว และวิชาการสาขาต่างๆ เป็นสามระดับด้วยกัน คือ เด็กรุ่นเล็ก อ่านเข้าใจระดับหนึ่ง เด็กรุ่นกลางระดับหนึ่ง และเด็กรุ่นใหญ่รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้สนใจอีกระดับหนึ่ง การเขียนบทความแต่ละเรื่อง จึงได้เขียนขึ้นให้ได้ลักษณะที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนแต่ละรุ่น และพิมพ์ไว้โดยใช้อักษรขนาดต่างๆ กัน แต่ละเรื่องตั้งต้นด้วยเรื่องสำหรับเด็กรุ่นเล็กก่อน ถัดไปสำหรับเด็กรุ่นกลาง แล้วจึงเป็นเรื่องสำหรับระดับรุ่นใหญ่

 ส่วนเรื่องทุนในการจัดทำหนังสือนี้ คณะไลออนส์แห่งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือจัดหาทุน โดยการถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้โครงการ ฯ นี้สำเร็จลุล่วงไปตามพระราชประสงค์

๒. เมื่อเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ก็ได้มีการเชิญคณาจารย์และผู้รู้ในสาขาวิชาต่างๆ ๗ สาขาวิชาคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์ มาเป็นกรรมการประสานงาน เพื่อจัดทำสารานุกรมไทยฯ โดยมีการร่วมมือจากวิทยากร ในสาขาวิชานั้น ตลอดจนกรรมการฝ่ายต่างๆ อีกมากมาย เช่น ฝ่ายศิลป์, ฝ่ายภาษา, ฝ่ายการพิมพ์ เป็นต้น จนกระทั่งสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ ๑ ได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นจำนวนหมื่นเล่ม และครึ่งหนึ่งของจำนวนพิมพ์ ได้นำทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียน และห้องสมุดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรต่อไป ส่วนจำนวนที่เหลือ ก็ได้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป

พระราชดำรัส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชปรารภว่า การเรียนรู้ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่างๆ โดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด และความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคล สามารถสร้างประโยชน์สุข สร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเอง ทั้งแก่สังคม และบ้านเมือง อันเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ ตามความประสงค์ และกำลังความสามารถ โดยทั่วกัน 

ทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหา อ่านทราบโดยสะดวก นับว่า เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครู และที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วย คลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชดำรัสให้ตั้ง โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เพื่อดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมฉบับใหม่อีกชุดหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่างๆ ที่ควรศึกษา ออกเผยแพร่แก่เยาวชน ให้แพร่หลายทั่วถึง เพื่อเยาวชนจักได้หาความรู้ ช่วยตัวเองได้ จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่อง เป็นสามตอน หรือสามระดับ สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจระดับหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่ รวมถึงผู้ใหญ่ผู้สนใจอ่านได้อีกระดับหนึ่ง เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดา สามารถใช้หนังสือนั้น เป็นเครื่องมือแนะนำวิชาแก่บุตรธิดา และให้พี่แนะนำวิชาแก่น้องเป็นลำดับกันลงไป นอกจากนั้น เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่นๆ ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้นๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยประสงค์จะให้ผู้ศึกษาทราบตระหนักว่า วิชาการแต่ละสาขา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึง 

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒

bottom of page